การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ทันที่รัฐสภาจะได้พิจารณาร่วมกัน ปรากฎว่านอกสภาเกิดการประลองกำลังกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้เห็นกันเสียแล้ว
สถานการณ์ล่าสุด 'วุฒิสภา' พยายามสร้างอำนาจต่อรองด้วยการตั้งกลุ่ม 'อิสระ' ที่ประกอบไปด้วยส.ว.สายพลเรือนและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประมาณ 60 คน ตั้งป้อมไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าส.ว.กลุ่มนี้ยังคงเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ควรกระทำในลักษณะของการแก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น ไม่ใช่มุ่งเป้าไปที่การตั้งส.ส.ร.
ส.ว.กลุ่มอิสระ มีความพยายามในการอธิบายโน้มน้าวส.ว.ด้วยกันเองว่าการไปใช้วิธีการในการได้มาซึ่งสมาชิกส.ส.ร.ด้วยการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชนถึง 150 คน จะเป็นการเปิดช่องให้พรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซงการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้นจะให้ส.ส.ร.มาจากการสรรหาทั้งหมด ก็ยังยากต่อการหาสูตรที่ลงตัวและได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงเห็นว่าควรแก้ไขบางมาตราเท่านั้น
โดยมาตราที่ส.ว.กลุ่มอิสระเห็นว่าสามารถแก้ไขได้เลยมีด้วยกัน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มมาตราที่กำหนดให้ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ เนื่องจากสถานการณ์ในวันนี้ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษในระยะเปลี่ยนผ่านอีกต่อไป และ 2. การให้วุฒิสภามีอำนาจติดตามความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศและการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติทุก 3 เดือน โดยมองว่าควรแก้ไขให้มีรายงานต่อสภาปีละ1-2ครั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เป้าประสงค์ของกลุ่มส.ว.อิสระที่ต้องมีการรวมตัวและกดดันต่อรองกับสภาฯให้ได้ คือ การตัดอำนาจส.ว.ในการชี้ขาดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กล่าวคือ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอไปนั้นมีการตัดทอนอำนาจวุฒิสภาอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้นั้นต้องมีด้วยกันสององค์ประกอบ ได้แก่ จำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาและเสียงหนึ่งในสามของวุฒิสภา แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลปรับใหม่เป็นการใช้เสียงข้างมากพิเศษจำนวน 3ใน5 ของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ของรัฐสภา โดยไม่จำเป็นต้องมีเสียงส.ว.เข้าไปผสมในเสียงข้างมากให้ได้หนึ่งในสาม
ส.ว.กลุ่มอิสระมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลกำลังล้ำเส้นวุฒิสภา ทั้งๆที่ที่ผ่านมาวุฒิสภาได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการเร่งผ่านกฎหมายสำคัญมาโดยตลอด แต่การที่เข้ามาล้วงอำนาจวุฒิสภาเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะให้ปล่อยผ่านไปง่ายๆ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นเรื่องที่ ‘วิรัช รัตนเศรษฐ’ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล รู้เป็นอย่างดีว่าเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยัดไส้เข้ามาแบบนี้ ย่อมก่อให้ความไม่พอใจในหมู่วุฒิสภา เพราะแทบไม่มีทางจะเป็นไปได้เลยที่ส.ว.จะโหวตตัดอำนาจของตัวเอง
หนำซ้ำบรรดาส.ว.ที่ก่อหวอดนั้นก็ล้วนเป็นขาใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานร่วมหัวจมท้ายกันมาก่อน จึงไม่แปลกที่ส.ว.จะมองพวกส.ส.พรรคพลังประชารัฐว่าเป็นพวกที่มาที่หลังแต่กลับมาผยองทำงานเอาหน้าเจ้านาย และทำให้ไม่มีใครกลัวใคร
ขณะเดียวกัน ส.ว.ขาใหญ่กลุ่มนี้ ยังเตรียมดาบสองดาบสามไว้เอาคืนพรรคร่วมรัฐบาลด้วย หากสุกท้ายพรรคร่วมรัฐบาลสามารถดันทุรังล็อบบี้ส.ว.กลุ่มอื่นๆให้มาร่วมลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งใช้เสียงส.ว.แค่ในหนึ่งในสิบหรือประมาณ 25 คน จากส.ว.ทั้งหมด 250 คน
จากภาพรวมๆที่เกิดขึ้นทำไปทำมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายกฯมองว่าจะเป็นการหยิบฟืนออกจากกองไฟ ทว่ากำลังจะกลายเป็นราดน้ำมันเข้ากองไฟเสียแล้ว