"ผมได้ตัดสินใจลาออกจากพรรคแล้ว เมื่อ 19 พ.ย.2562 แต่บนพื้นฐานที่พวกเราเข้าใจกัน ยังรักและเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และยังถือว่าเราเป็นพวกเดียวกัน ที่อาจต้องพึ่งพากัน เพื่อประเทศชาติของเรา ผมได้ลาผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของพวกเราด้วย ตามวัฒนธรรม ไปลามาไหว้ของคนไทยเราผมตั้งใจแถลงข่าว เหตุผล และเส้นทางต่อไปในอนาคต 23 พ.ย.นี้ครับ"
ถ้อยคำจาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวพร้อมภาพการลานายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดก่อนที่จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวเวลา 10.00 น. วันเสาร์ที่ 23 พ.ย. ท่ามกลางกระแสข่าวถึงทิศทางของนพ.วรงค์ต่อการลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรต่อไป
"เนชั่นสุดสัปดาห์" ได้พูดคุยกับ "นพ.วรงค์" ว่าคอนเฟิร์มเรื่องการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดขอให้รอวันแถลงข่าว 23 พ.ย. ส่วนจะเป็นที่ใดจะแจ้งให้ทราบ เพราะอยากจะสื่อสารกับสื่อมวลชนภายหลังเคยโพสต์เฟซบุ๊กมาตลอด แต่ทิศทางของตัวเองมีหลายตัวเลือกแต่จะเป็นอย่างไรขอให้รอวันที่ 23 พ.ย.ดีกว่า
"การแถลงวันนั้นน่าจะมีเซอร์ไพรส์ ภายหลังการตัดสินใจลาออกได้ผ่านการคิดมานานหลายเดือนแล้ว แต่เพิ่งได้บทสรุป โดยได้ลานายชวนไปแล้ว พร้อมบอกว่า ยังเคารพยังรักกันเหมือนเดิมไม่มีปัญหา"
นอกจากในวันเสาร์ที่ 23 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นพ.วรงค์ นัดสื่อมวลชนแถลงข่าว ยังมีความเคลื่อนไหวจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) เตรียมเรียกหารือกับแกนนำพรรครปช.เพื่อกำหนดทิศทางการเมืองของพรรคใหม่อีกครั้ง ที่อาคารทู แปซิฟิคเพลส สุขุมวิท เพื่อหารือถึงการเดินหน้าใยนโยบายของพรรค รปช.ต่อไป
แหล่งข่าวจากพรรค รปช.เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรครปช.มีกระทรวงแรงงานช่วยขับเคลื่อน แต่การวางยุทธศาสตร์ของพรรคใหม่ต้องปรับโครงสร้างของพรรคต้องเดินหน้าไปพร้อมด้วย โดยมีทั้งทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของพรรคให้ชัดเจน โดยเฉพาะต้องมีบุคคลที่เป็นแกนนำของพรรค
"เนชั่นสุดสัปดาห์" ถามถึงเส้นทางการเมืองทางการเมืองของ นพ.วรงค์ภายหลังออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ จะย้ายเข้าสู่พรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือไม่ แหล่งข่าวรายนี้ยอมรับว่า "มีความเป็นไปได้"
"ส่วนการปรับโฉมของพรรครปช.นั้น หากมองไปถึงภาพของหมอวรงค์ถ้าย้ายมาพรรครวมพลังประชาชาติไทยจริง พรรคจะได้ภาพบุคคลผู้ที่ตรวจสอบการทุจริตมาด้วย ส่วนการลาออกของหมอวรงค์คงมาจากความรู้สึกที่มีต่อโครงสร้างพรรคและผู้มีบารมีในพรรค" แหล่งข่าว ระบุ
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปัตย์กับ "หมอวรงค์" ก่อนหน้านี้ พบว่าเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2562 นพ.วรงค์เคยออกมาปฏิเสธร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการนโยบายของพรรคทีม "ดิ อเวนเจอร์" ในยุคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้โพสต์เฟสบุ๊คเป็นจดหมายไม่ขอรับตำแหน่ง ใจความว่า
"ผมได้รับการประสานจากท่านจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่กรรมการนโยบายพรรค ผมได้พิจารณาแล้วว่าผมได้ทำหน้าที่กรรมการและรองประธานกรรมการต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเกินกว่า 5 ปี คิดว่าควรจะเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ท่านอื่นได้มาทำหน้าที่แทนบ้าง จึงได้ทำหนังสือขอไม่รับตำแหน่งส่งไปแล้วครับ"
สำหรับประวัติเส้นทางการเมืองของ น.พวรงค์ ภายหลังมีตำแหน่งทางการแพทย์ครั้งสุดท้าย ที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก "หมอโก๋" ได้ลาออกจากราชการ เพื่อลงเล่นการเมืองโดยแรกเริ่มอยู่ในสังกัดพรรคไทยรักไทย แต่ได้ลาออกเมื่อพรรคเปลี่ยนแปลงตัวผู้สมัคร ส.ส.จึงย้ายไปอยู่ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์แทน และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พิษณุโลก ในการเลือกตั้งปี 2548 2550 และ 2554
ที่ผ่านมาถือว่าน.พ.วรงค์ มีบทบาทในการจรวจสอบนโยบาย "จำนำข้าว" ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเคยได้รับฉายา "หมอข้าว" และเคยออกหนังสือ "มหากาพย์โกงข้าว" ชำแหละโกงจำนำข้าวทุกขั้นตอน เมื่อปี 2557
จาก "หมอข้าว" แห่งประชาธิปัตย์จนถึงวันสุดท้ายของการเป็นสมาชิกพรรค จากนี้เส้นทางสายใหม่ของ "หมอวรงค์" จะเป็นอย่างไรกำลังจะถูกเปิดเผยในอีกไม่ช้า