วุฒิสภาไทยชุดนี้นับเป็นชุดที่ 12 (พ.ศ. 2562) เป็นสภาสูงของรัฐสภาไทย เป็นวุฒิสภาชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร
มีบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 พลเอกธีรชัย นาควานิช เลขาธิการ คสช.ในขณะนั้น ได้ส่งหนังสือถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันบทบาทของ คสช.ไว้ว่า "ไม่มีอำนาจเลือกหรือกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" และ "อย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ คสช.ยินดีจะพ้นจากตำแหน่งและยุติอำนาจหน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาในโรดแมปและในร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่"
สมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 250 คน
เป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
มีสมาชิกที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 194 คน และมาจากการสรรหาใน 10 กลุ่มอาชีพ จำนวน 50 คน
รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกภาพเริ่มนับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คือ 11 พฤษภาคม 2562
อำนาจหน้าที่
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาพิจารณาบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงเห็นชอบเกิน 376 เสียงขึ้นไป
นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภายังมีอำนาจพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เช่น การเมือง การศึกษา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ การถือครองที่ดิน และระบบหลักประกันสุขภาพ ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยที่คณะรัฐมนตรีต้องระบุว่ากฎหมายฉบับใดบ้างที่จะเข้าข่ายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ถ้าสมาชิกวุฒิสภา 50 คนขึ้นไปเห็นว่ากฎหมายใดที่คณะรัฐมนตรีไม่ได้ระบุว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ แต่ตนเห็นว่าเกี่ยวข้อง สามารถยื่นให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยได้ ซึ่งหากเกี่ยวข้องก็จะสามารถร่วมพิจารณากฎหมายดังกล่าวได้
ประธานวุฒิสภา
ภายหลังจากรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ได้มีการประชุมวุฒิสภาสมัยครั้งที่หนึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เพื่อเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน
ที่ประชุมมีมติเลือก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และนาย ศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2
โดยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
กระบวนการสร้างเป้าหมายร่วมกัน
ในงานสัมมนาวิชาการครั้งแรกของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 กระบวนการได้ถูกออกแบบโดย ส.ว. พลเดช ปิ่นประทีป และส่วนการดำเนินการทำโดยทีมวิทยากรกระบวนการจากสถาบันพระปกเกล้า
กระบวนการได้แบ่งสมาชิกผู้เข้าร่วมออกเป็น 10 กลุ่ม ๆ ละ 25 คน
เริ่มต้นจากการครุ่นคิดถึงเป้าหมายและความตั้งใจส่วนตัวในการเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว. และเขียนคำสั้นๆลงในบัตรคำ
จากนั้น จับคู่ 2 คน คุยกับเพื่อนหน้าใหม่ โดยการแลกเปลี่ยนความหมายตามบัตรคำของตนโดยไม่มีการสรุป
ต่อด้วยการจับกลุ่ม 4 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความหมายความตั้งใจส่วนตัวกันต่อ ยังไม่มีการสรุป
ต่อมา รวมกลุ่ม 8 คน แลกเปลี่ยนเป้าหมายความตั้งใจกัน และสรุปเป็นบัตรคำชุดใหม่ เป็นสรุปเป้าหมายและความตั้งใจของกลุ่ม
จากนั้นนำเข้ามารายงานในกลุ่มใหญ่ 25 คน อภิปรายและประมวลผล วิทยากรกระบวนการทำหน้าที่สรุปและรวบรวมไปสังเคราะห์ร่วมกับกลุ่มอื่น ทั้ง 10 กลุ่ม เพื่อสังเคราะห์เป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกัน
เจตนารมณ์ร่วม
ในกิจกรรมครั้งนี้ มี ส.ว. เข้าร่วมจำนวน 216 คน คิดเป็นร้อยละ 86 ผลสรุปจึงสามารถนับเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของวุฒิสภา ชุดที่ 12 ซึ่งมี 6 ประการ สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้