จากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ผมได้มีโอกาสได้รับความรู้จากนักนิติศาสตร์ที่อธิบายถึงสถานะของพรรคการเมืองในประเทศสำคัญๆในตะวันตก ฟังแล้ว ก็ให้นึกสงสัยใคร่รู้ว่าตกลงแล้ว มันเป็นยังไงกันแน่ ? ทำให้ผมต้องไปค้นดูว่ามีใครเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ไว้บ้าง ก็เลยพบข้อเขียนอันหนึ่ง จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อพัฒนาความคิดความอ่านกัน
จากการศึกษาของ Anika Gauja (Political Parties and Elections: legislating for representative democracy: 2010) พบว่า ประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายจารีตประเพณีและมีวัฒนธรรมของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เหมือนกันและเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางการเมืองที่อยู่ในระดับเดียวกัน อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย กลับมีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมพรรคการเมืองที่แตกต่าง แต่จะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเหมือนกันทุกประเทศ
Gauja ต้องการเสนอว่า การออกกฎหมายเพื่อควบคุมสถานะและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมืองในฐานะตัวแสดงสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่แตกต่างกันใน ๕ ประเทศ เกิดจากการที่ผู้บัญญัติกฎหมายและผู้พิพากษาที่ตีความตัวบทกฎหมายของแต่ละแห่งมีชุดปทัสถานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยตัวแทนและการทำหน้าที่ของตัวแทนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การจัดวางตำแหน่งแห่งที่และการออกมาตรการควบคุมพรรคการเมืองในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามไปด้วย
แต่ปรากฏ การณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ทั้งหมด ยังวางอยู่บนสาเหตุหลักหรือสาเหตุพื้นฐานร่วมกัน คือทุกประเทศล้วนต้องการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและการรวมศูนย์อำนาจในพรรค (corruption and centralization in party politics) เพื่อสร้างเวทีทางการเมืองที่เสรีและเป็นธรรมให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองของทุกฝ่าย
จากการสำรวจวรรณกรรมการศึกษาเกี่ยวกับการออกกฎหมายควบคุมการพรรคการเมืองที่มีมาก่อนหน้า Gauja พบว่าแม้จะมีงานเขียนจำนวนมากให้ความสนใจประเด็นเรื่องพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และระบบเลือกตั้ง แต่มีงานเขียนส่วนน้อยมากที่ให้ความสนใจมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมพรรคการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตย และรวมถึงงานของ Vernon Bogdanor (The constitution and the Party system in the twentieth century:2004) ที่กล่าวว่า การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการรับรองสถานะของพรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช้ามาก
เนื่องจากบรรดานักกฎหมายและนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนมิได้ตระหนักถึงความสำคัญของพรรคการเมืองที่เป็นแกนกลางและปัจจัยสำคัญในการจัดวางกลไกของระบอบการเมือง เพราะก่อนหน้าที่จะมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองอย่างเป็นกิจจะลักษณะเมื่อไม่นานมานี้
สถานะของพรรคการเมืองในประเทศเสรีประชาธิปไตยที่ปกครองโดยใช้กฎหมายจารีตประเพณีอย่างประเทศสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ แทบจะไม่แตกต่างไปจากสมาคม (voluntary association) อย่างหนึ่ง พรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้จึงไม่ได้มีความแตกต่างจากสมาคมกีฬาหรือสมาคมทางสังคมอื่น ๆ หรือที่ Jean Blondel (Voters, Parties and Leaders: The Social Fabric of British Politics: 1963)
อธิบายไว้ว่า พรรคการเมืองในอังกฤษ คือ สมาคมเอกชนที่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือหน้าที่ใดใดที่ทำให้แตกต่างไปจากสมาคมหรือองค์กรเอกชนอื่น ๆ อันส่งผลให้มาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะเกิดกฎหมายพรรคการเมือง (หากมี) มักเป็นไปในลักษณะของมาตรการที่มุ่งบังคับใช้กับการแข่งขันของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนในระดับเขตเลือกตั้ง มากกว่าที่จะเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อควบคุมการแข่งขันของพรรคการเมืองในระดับชาติ
กฎหมายที่เป็นจุดเปลี่ยนของมาตรการในการควบคุมพรรคการเมืองในกรณีของประเทศสหราชอาณาจักร คือ Representation of the People Act 1918 และพระราชบัญญัติที่ตามมาทีหลังที่สุดในบรรดาประเทศที่เหลือ คือ Parliament Acts, Political Parties, Elections and Referendums Act 2000 (หรือที่เรียกว่ากฎหมาย PPERA) ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก
เนื่องจากสหราชอาณาจักรคือประเทศที่เป็นต้นทางของตัวแบบการปกครองให้กับประเทศอื่น ๆที่ผู้ศึกษานำมาเปรียบเทียบ แต่กลับกลายเป็นว่า สหราชอาณาจักรมีพัฒนาการที่ช้าที่สุดในการออกกฎหมายรับรองสถานะและควบคุมการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในห้าประเทศที่กล่าวไป โดยพัฒนาการของการออกกฎหมายรับรองสถานะพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักร เริ่มก่อตัวขึ้น ค.ศ. 1937 เมื่อรัฐสภาออกกฎหมายที่เรียกว่า the Minister of the Crown Act เพื่อให้เงินเดือนผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา หัวหน้าวิปฝ่ายค้าน รวมถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่ง Bogdanor อ้างว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการยอมรับโดยนัยเป็นครั้งแรกว่ารัฐสภาอังกฤษคือสภาสามัญที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองคือ พรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน มิใช่สมาชิกรัฐสภาในฐานะปัจเจกบุคคล และถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายของอังกฤษที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาที่มีการระบุถึงการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองในเนื้อหาอย่างชัดเจน
พัฒนาการการรับรองสถานะของพรรคการเมืองโดยกฎหมายของสหราชอาณาจักรก้าวไปอีกขั้นหนึ่งใน ค.ศ. 1969 จากการที่รัฐสภาตรากฎหมาย the Representation of the People Act ซึ่งอนุญาตให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ สามารถระบุชื่อพรรคการเมืองที่ตนสังกัดลงไปในบัตรเลือกตั้งได้ แม้ตัวกฎหมายจะยังไม่ได้มีเนื้อหารับรองการดำรงอยู่อย่างพรรคการเมืองอย่างชัดเจน เนื่องจากถูกต่อต้านโดยพรรคอนุรักษ์นิยมในรัฐสภา
ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวกฎหมายไม่สอดคล้องกับโครงสร้างของพรรคและทำให้การปฏิบัติงานของพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งกระทำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีฝ่ายต่อต้านในรัฐสภาที่ให้เหตุผลว่า กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจเจ้าของพรรคการเมืองมีอำนาจในการตัดสินใจเหนือผู้สมัคร โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ (ต่อสัปดาห์หน้าจะมีการพูดถึงกฎหมายพรรคการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการการเงินของพรรคอย่างชัดเจน !)
ภาพเขียนเสียดสีการเลือกตั้งของอังกฤษในศตวรรษที่สิบแปด ที่กลุ่มการเมืองที่เรียกว่า Whig ซื้อเสียงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยเงิน การเลี้ยงอาหารและสุรา และความบันเทิงต่างๆ