แผนการของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 ดูจะมีความคล้ายคลึงกับแผนการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะผู้ก่อการของสวีเดนในปี ค.ศ. 1809 ของไทยเราคือ คณะราษฎร ของสวีเดนเขาเรียกกันว่า “คณะบุคคล ค.ศ. 1809” (1809 års män)
สวีเดนใช้แผนจับกุมตัวพระเจ้ากุสตาฟที่สี่ ส่วนไทย ตอนแรกก็คิดจะจับกุมตัวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ที่ประชุมคณะราษฎรไม่เห็นชอบกับแผนดังกล่าวของพระยาทรงสุรเดชที่เคยไปเรียนอยู่ที่เยอรมนีถึงแปดปี และเยอรมนีเป็นประเทศที่อยู่ติดสวีเดน
สันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ว่า พระยาทรงสุรเดชน่าจะได้อ่านประวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสวีเดน เพราะภาษาสวีเดน-เยอรมันมีความใกล้เคียงกัน แต่ถึงไม่ได้อ่านภาษาสวีเดน แต่ข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองสวีเดนในภาษาเยอรมันก็มีอยู่มากมาย
ในการเข้าจับกุมตัวพระเจ้ากุสตาฟที่สี่ นายพล Adlerscreutz ได้เป็นผู้นำบุคคลอีกหกคนเข้าไปในวังและจับกุมตัวพระเจ้ากุสตาฟที่สี่สำเร็จโดยไม่มีการบาดเจ็บเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด ปัจจัยสำคัญก็คือ ไม่มีใครสงสัยหรือคาดคิดว่า นายพล Adlercreutz จะก่อกบฏ เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่จงรักภักดีรับใช้ราชวงศ์มาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากุสตาฟที่สาม ดังนั้น แผนการจับกุมตัวกษัตริย์เพื่อเป็นตัวประกันในกการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงสำเร็จได้เพราะอาศัยความไว้วางใจที่พระเจ้ากุสตาฟที่สี่ทรงมีต่อนายพล Adlercreutz
ส่วนของไทยเรา เมื่อคณะราษฎรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแผนจับกุมพระมหากษัตริย์ พระยาทรงสุรเดชก็เสนอให้จับกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์แทน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม และเป้าหมายสำคัญในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และบุคคลที่คณะราษฎรวางตัวให้เป็นผู้บุกเข้าไปจับกุมตัวพระองค์คือ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และเขาก็สามารถทำสำเร็จตามแผน คำถามคือ พระประศาสน์พิทยายุทธมีภาพลักษณ์ในแบบที่นายพล Adlercreutz มีหรือเปล่า ? อาศัยความไว้วางใจไม่คาดคิดว่าจะเป็นกบฏ !
ผู้เขียนได้อาศัยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของพระประศาสน์พิทยายุทธจากการเรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว (แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ในคลังข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ทำให้ทราบว่า พระประศาสน์พิทยายุทธ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2437 ที่กรุงเทพมหานคร บริเวณใกล้ ๆ กับวัดรังษีสุทธาวาส (ปัจจุบันได้รวมเข้ากับวัดบวรนิเวศวิหาร) เป็นบุตรคนที่ 2 ของขุนสุภาไชย (เอื้อน ชูถิ่น) และนางวงษ์ ชูถิ่น เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ขณะที่มีอายุได้ 14 ปี
กระทั่งถึง พ.ศ. 2454 ได้สำเร็จการศึกษาเป็นนักเรียนทำการนายร้อย โรงเรียนนายร้อยมัธยม โดยสอบไล่ได้เป็นที่ 5 จากนักเรียนทั้งหมด 185 คน และได้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมนี ทำให้ได้รู้จักกับพระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาทรงสุรเดช จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมา
ส่งผลให้ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธต้องย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคุม (Politeknikum) นครซูริกประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ต่อมาประเทศสยามขณะนั้น ได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่พระประศาสน์พิทยายุทธสำเร็จการศึกษา จึงได้สมัครเข้าเป็นทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับติดยศร้อยตรี ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ให้เป็นผู้ช่วยทูตในราชการทหารบกยุโรป และปฏิบัติภารกิจจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และได้เข้ารับราชการประจำกรมทหารบกที่ 3 ต่อมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม และได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับกองร้อยนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ต่อมาย้ายไปดำรงตำแหน่งครูประจำกองยุทธศึกษาทหารบก และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก
จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์วิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก และต่อมาขยับขึ้นเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพที่ 2 และก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2474
ในสำนวนการเล่าเรื่องของวิกีพีเดียบรรยายว่า ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้รับผิดชอบในภารกิจการควบคุมตัวบุคคลสำคัญต่าง ๆ นั่นคือ เข้าควบคุมตัวสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ วังบางขุนพรหม เป็นผู้รักษาพระนครในขณะนั้น ภารกิจนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากในวังบางขุนพรหมนั้นมีปืนกลหลายกระบอกอยู่ภายในพระตำหนัก ประกอบกับขณะนั้นพระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตอยู่ก่อนแล้ว และได้ชักอาวุธปืนขึ้นเตรียมยิงใส่ พระประศาสน์พิทยายุทธ แต่ไม่มีการยิงกันเกิดขึ้น และสามารถควบคุมตัวบุคคลทั้งหมดไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมได้สำเร็จ
นอกจากนี้พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ ยังเป็นผู้บุกเข้าควบคุมตัวแม่ทัพคนสำคัญ นั่นคือ พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก และพระยาเสนาสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งสามารถจับกุมได้อย่างง่ายดาย ความสำเร็จของพระประศาสน์พิทยายุทธส่งผลไม่ให้เกิดการต่อต้านและนองเลือด นับว่าเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของคณะราษฎร
ส่วนในสำนวนของคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ที่เขียนไว้ใน “24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม” จากเวป “101” (vanchai tantivitayapitak | Jun 24, 2017https://www.the101.world/24-june-2475/) บรรยายไว้ว่า ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 “บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปจับกรมพระนครสวรรค์ฯ คือ พระประศาสน์ฯ ซึ่งนำนักเรียนนายร้อยประมาณ 50 นายพร้อมอาวุธปืน เคลื่อนขบวนออกจากลานพระบรมรูปทรงม้า
โดยมีรถเกราะ รถปืนใหญ่ นำขบวนไปยังวังบางขุนพรหม มีบริวารนับร้อยพร้อมปืนกลเบาคอยป้องกันอยู่ พระประศาสน์ฯ ใช้ไหวพริบเข้าไปจับตัวหัวหน้าสถานีตำรวจบางขุนพรหม ยศร้อยตำรวจโท ให้นั่งรถเกราะเข้าไปด้วยกัน เมื่อถึงประตูหน้า ตำรวจวังที่รักษาการณ์อยู่ก็ยอมเปิดประตูให้โดยดี”
เท่าที่ฟังมาเท่านี้ ก็พบว่า การที่พระประศาสน์พิทยายุทธสามารถเข้าไปในวังบางขุนพรหมนั้นหาใช่เพราะความที่ตำรวจวังรู้จักคุ้นเคยและเคารพเชื่อในความจงรักภักดีที่มีต่อกรมพระนครสวรรค์ แต่เป็นเพราะพระประศาสน์ฯแกมีไหวพริบดีที่จะไปจับตัวหัวหน้าสถานีตำรวจบางขุนพรหมมาให้นั่งรถเข้าไปด้วยกัน ซึ่งหน้าของหัวหน้าสถานีฯน่าจะเป็นที่รู้จักคุ้นเคยสำหรับตำรวจวัง ! แล้วหลังจากเข้าไปได้แล้ว ไม่เกิดการต่อสู้กันเลยหรืออย่างไร ?
(ส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย “การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ: ศึกษากรณีสหราชอาณาจักร ราชอาณาจักรสวีเดนและราชอาณาจักรภูฏาน” ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีงบประมาณ ๒๕๖๐)