ไม่ว่าจะเป็น “รัฐบาลเชียงกง” รัฐบาลเรือเหล็ก รัฐนาวาปะผุ หรือ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ สุดแท้แต่จะหยิบยกขึ้นมาเอ่ยถึง
ไม่ว่าจะเป็นฉายาเฉพาะตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งถูกประทับตราเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนทำเนียบรัฐบาลว่า “อิเหนาเมาหมัด”
หรือไม่ว่าจะเป็นอีก 10 รมต.ที่ได้รับฉายากันถ้วนทั่วทุกตัวคน ซึ่งก็ดูไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลอดีตที่ผ่านมา มีนักการเมืองระดับชั้นนำได้รับเลือกให้มีฉายาประจำตัว
อย่างเช่น "ชวน หลีกภัย" ผู้ได้ฉายา "ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง" ชนิดที่คอการเมืองจดจำกันมาถึงทุกวันนี้ รวมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งมีฉายาแต่ละปีแตกต่างกันไป อย่างเช่น “เศรษฐีเหลิงลม” , “ เทวดา”, “ผู้นำจานด่วน” , “พ่อมดมนต์เสื่อม”
เหล่านี้ ล้วนผ่านการขบคิด เสนอชื่อขึ้นบนกระดาน พร้อมเปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันไปมาในที่ประชุมสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล
ในอดีตไม่ใช่ถกเถียงกันแค่วันเดียว บางรายกว่าจะได้ฉายา ต้องขุดคุ้ยหาข้อมูลนำมาเสนอโน้มน้าวที่ประชุมกันเป็นเวลาหลายรอบก็เคยมี ก่อนลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ให้ออกมาเป็นฉายารัฐบาล ฉายานายกฯ รวมไปถึงวาทะแห่งปี
นอกจากเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่หลักใหญ่ใจความต้องการสะท้อนภาพการทำงานของรัฐบาล สะท้อนถึงบุคลิกลักษณะของข้าราชการการเมืองที่เข้ามาสู่อำนาจในการบริหารประเทศในรอบปีที่ผ่านมาออกมาเป็นฉายา เพราะอย่าลืมว่า สื่อมวลชนทำเนียบฯถือได้ว่าติดตามการทำงานนักการเมืองเหล่านี้อย่างใกล้ชิดที่สุด
เมื่อฉายาถูกเผยแพร่ออกไปย่อมมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกตั้งฉายาในลักษณะไม่โสภาสถาพรสักเท่าไหร่นัก ดูจะอารมณ์บ่จอย แบบว่าไม่ตลกด้วยกับสื่อมวลชน
อย่างว่า "มนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์"จึงต้องมีอารมณ์ความรู้สึกกันบ้างเหมือนอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ได้รับเกียรติระดับสองเด้ง ทั้งฉายา ”รัฐบาลเชียงกง” ราวกับอะไหล่รถยนต์มือสอง นำมาประกอบร่างขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ตามมาด้วย ความเป็นตัวตน “อิเหนาเมาหมัด” โดยที่สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลให้ความหมายว่า นำมาจาก “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” แทนที่จะเป็นผู้นำในยุคสรรหาสิ่งใหม่ สร้างการปฏิรูปประเทศ แต่สุดท้าย ก็เป็นผู้นำพึ่งพา บุคคลหน้าเดิมทางการเมืองเต็มไปด้วยข้อครหานินทา มาร่วมกันบริหารประเทศอะไรทำนองนั้นหล่ะท่าน
ก็ต้องออกอาการฉุนเฉียว ส่งสายตาเขม่นสื่อมวลชนทำเนียบฯกันบ้าง แต่ไม่ใช่จะผูกใจเจ็บไปตลอด
ดังเห็นได้จากช่วง1-2วันที่ผ่านมา “ลุงตู่” กลับมาจ๊ะจ๋านักข่าวเช่นเดิม ล่าสุดจากการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา อดไม่ได้จะหยิบเรื่องฉายา ขึ้นมาเหน็บแนมแบบแช่งกลายๆสื่อมวลชน " ใครจะตั้งฉายา ก็ตั้งไปเถอะ ขอให้ปวดท้อง"
ท่ามกลางบรรยากาศที่มีทั้งความสรวลเสเฮฮา ความตลกขบขัน แต่หารู้ไม่ว่า คนที่ได้รับฉายาจะปล่อยผ่าน โดยไม่ได้นำกลับไปคิดทบทวนหาคำตอบว่าทำไมถึงต้องได้รับฉายา และต้องหาทางปรับปรุงแก้ไขอะไรหรือไม่
เท่าที่…อสนีบาต…สดับตรับฟังการแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังการประชุมครม. กล่าวถึงการได้รับฉายารัฐบาล ประหนึ่งว่า "ลุงตู่" กลับไปคิดทบทวนหลังจากหน้าบึ้งกับสื่ออยู่นาน ด้วยการหาเหตุผลมาหักล้างกับสิ่งที่ถูกยัดเยียดให้เป็น“ รัฐบาลเชียงกง”
“ถ้าประชาชนเลือกมา ผมก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก ไม่สามารถจะทำอย่างอื่นได้ ผมต้องบริหารงานให้ได้ ด้วยวิธีการทำให้เขาเข้าใจการทำงานของรัฐบาล ถ้าบอกว่าอยากให้คนใหม่เข้ามา ต้องไปดูว่าคนใหม่นั้นเป็นอย่างไร เขามาแล้วจะทำอะไรบ้าง ทำได้หรือเปล่า บ้านเมืองจะเสียหายหรือเปล่า ผมอาจมองในมุมของความมั่นคงด้วย ชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างอยู่คู่กับประชาชนคนไทยไปนานตราบเท่านาน” พล.อ.ประยุทธ์ แถลงภายหลังประชุมครม. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.
อีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะถูกซ่อนไว้โดยไม่มีใครหยิบขึ้นมาพูดถึงมากนัก แต่กลับหยิบยกเฉพาะฉายาเอาไปเป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการเมือง นั่นก็คือ คำอธิบายของสื่อมวลชนในการตัดสินใจตั้งฉายาหลังเว้นว่างมานาน
คำบรรยายของสื่อทำเนียบฯ ถึงเหตุผลการตั้งฉายาถูกอธิบายในบรรทัดแรกๆ โดยระบุว่า “…แต่ด้วยประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย และ มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้ว่างเว้นไม่ได้ตั้งฉายามา 6 ปี ดังนั้นในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ประชุมและมีมติตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และ วาทะแห่งปี ประจำปี 2562 “
พอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า แม้แต่สื่อมวลชนทำเนียบฯ ยอมรับว่าบ้านนี้เมืองนี้ได้กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมีรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง มีเสรีภาพของการแสดงความคิดความเห็นกลับมาแล้ว จึงเป็นเรื่องสมควรในการตั้งฉายาในปีนี้
แม้หน้าตาคนเป็นนายกฯครั้งนี้ จะละม้ายคล้ายเหมือนหัวหน้าคสช.ที่เข้ามายึดอำนาจในช่วงมีรัฐบาลประชาธิปไตยก็ตาม แต่คนที่เป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลปัจจุบันก็ล้วนผ่านการเลือกตั้ง เข้าหลักเกณฑ์การตั้งฉายาตามที่สื่อมวลชนกำหนดไว้
อดแปลกใจไม่ได้ ขณะที่สื่อมวลชนยังยอมรับถึงการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งผ่านการตั้งฉายา แต่กับนักการเมืองยุคเก่าและยุคใหม่บางกลุ่ม ยังคงร้องแรกแหกกระเชอ เรียกร้องประชาธิปไตยทุกสามเวลาหลังอาหาร ยังคงเดินสายแก้รธน. ประกาศโครมๆแถวลานสกายวอร์ค “ ประชาธิปไตยจงเจริญ เผด็จการออกไป”
ทั้งๆที่ พวกเขาเหล่านั้นผ่านกระบวนการเลือกตั้งเข้ามาด้วยกันแท้ๆ แต่กลับมีความพยายามสร้างวาทกรรม ความเชื่อ ฝังเข้าไปในสมองประชาชนให้เกิดความเกลียดชังแบ่งฝ่าย
นักการเมืองพวกนี้ก็ดูจะน่ากลัวกว่าเผด็จการเสียอีกครับ