เหลือบไปเห็นข่าว นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ “ดีอีเอส” ออกมาจุดพลุนโยบายที่จะเร่งรัดให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)หรือ แคท เร่งควบรวมกิจการกันเป็น “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom co.) ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 แล้ว
ก็ไม่รู้จะถือเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายของสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของประเทศที่กำลัง “หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง” เพราะหลังจากสองหน่วยงานถูกจับให้ไปลงขันจัดตั้งบริษัทลูกร่วมทุนคือ บริษัท โครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แห่งชาติ (NGN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต(NGDC) ตามแผนการฟื้นฟูกิจการที่ คนร.และ ครม.ขีดเส้นให้ดำเนินการในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น
แม้ คนร.และคณะรัฐมนตรีจะไม่ออกมาป่าประกาศว่าสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร แต่ก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยากลอง คนร.และครม.ต้องหวนกลับมา “ปัดฝุ่น” จับเอาสองหน่วยงานมาควบรวมกันเองเช่นนี้ ก็คงแปลได้ว่าแนวทางการฟื้นฟูกิจการ การควบรวมกิจการที่คนร.ป้ำผีลุก ปลุกผีนั่งมาในช่วง 3-4 ปีก่อนนั้นคง “ล้มเหลว” ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว
ไม่ต่างไปจากแผนฟื้นฟู 6-7 รัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ต่างก็ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับการอนุมัติขัดเกลามาอย่างดิบดีจาก คนร. สภาพัฒน์ ตลอดจนคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่สุดท้ายสถานะของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เป็นอย่างไร? ผงาดขึ้นมาลืมตาอ้าปากได้หรือไม่นั้น ทุกฝ่ายต่างรู้สาแก่ใจกันดีครับ!
ในแผนควบรวมกิจการทีโอที-แคทที่จะมัดตราสังให้มาร่วมจัดตั้ง “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ N -Telecom (NT)ซึ่งคงจะใช้เวลาราว 6-7 เดือนนั้น นัยว่าจะมีการแบ่งโครงสร้างออกเป็น 5 หน่วยธุรกิจ คือหน่วยธุรกิจบริการทางสายและโครงข่ายบรอดแบนด์ ,หน่วยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ,หน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการ, หน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และหน่วยธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศ
และตั้งเป้าที่จะรุกคืบเข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐาน 5 จี เป็นผู้ให้บริการ IoT Connectivity ให้กับภาครัฐและอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งยังตั้งเป้าหมายจะให้ NT เข้าร่วมประมูล 5G ที่กสทช.เตรียมจะโม่แป้งประมูลในต้นปี 2563 นี้ โดย รมว.ดีอีเอส ระบุว่าได้มีการหารือแนวทางดังกล่าวกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. )ไปบ้างแล้ว ส่วนจะเข้าร่วมประมูลแบบต่างคนต่างเข้าร่วมหรือประมูลแบบควบรวมอะไรนั้นค่อยมาว่ากันอีกที
ไม่รู้ฝ่ายบริหารและพนักงานของสองรัฐวิสาหกิจข้างต้นจะมองเห็นภาพหรือมองเห็นอนาคตขององค์กรตนเองอย่างไร แต่สำหรับ “เนตรทิพย์” แล้วบอกตามตรง ....ว้าเหว่แทนจริงๆ ครับ!!!
หากจะย้อนรอยไปพิจารณาเส้นทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งยวดเป็น “โมเดลธุรกิจ” ที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ใช้เป็นแม่แบบของการศึกษาเจริญรอยตามนั้น ผมคงยกให้ความสำเร็จของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)หรือ “ PTT Model” ที่แปรรูปมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) ในอดีตนั่นแหล่ะ
ก่อนการแปรรูปนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2544 นั้น ตัวองค์กรหลักปตท. ยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปแบบ แต่มีการจัดโครงสร้างธุรกิจแยกหน่วยธุรกิจ Business Unit สยายปีก ขยายกิจการออกไปจัดตั้งบริษัทลูก บริษัทร่วมทุนนับสิบ นับร้อยบริษัท ผ่องถ่ายผู้บริหารและพนักงานลงไปดูแลบริษัทลูก หรือบริษัทร่วมทุนเหล่านั้นครบวงจร โดยที่บริษัทแม่ ปตท.ยังคงทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการในเครือเหล่านี้ ในลักษณะที่เป็น Holding Company เต็มพิกัด
ก่อนที่ ปตท.จะแปรรูปนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลายเป็น Holding Company ที่มีบริษัทลูก บริษัทร่วมทุนอยู่นับร้อยบริษัท โดยที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ต่างมีบริษัทลูกที่แตกแขนง แตกบริษัทย่อย บริษัทร่วมทุนตามมาอีกนับร้อยบริษัท มีการนำกิจการเหล่านั้นเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามกันมาเป็นพรวนทั้ง PTTEP,PTTGC และกิจการที่ ปตท.เข้าไปร่วมลงทุนด้วยอีกนับสิบราย ล่าสุดก็เตรียมนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดตามรอยบริษัทแม่อีกราย
เช่นเดียวกับธุรกิจเอกชนทั่วไปที่มีการจัดโครงสร้างการบริหารในลักษณะนี้ อย่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซี.พี. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) บริษัทอินทัช โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ฯลฯ ที่ต่างอยู่ในสถานะที่เป็น Holding Company ทำหน้าที่กำกับทิศทางการพัฒนากิจการของบริษัทลูกและบริษัทร่วมทุนต่าง ๆ นับสิบหรือนับร้อยกิจการ
แต่การจะเจริญรอยตามรูปแบบ PTT Model ดังกล่าว สองรัฐวิสาหกิจดังกล่าวจำเป็นต้องกระจายธุรกิจที่มีอยู่ออกไปตั้งเป็น “หน่วยธุรกิจหรือ Business Unit: BU “ ก่อนจัดตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมทุนกับภาคเอกชนโดยที่ตัวองค์กรของบริษัทแม่ยังต้องทำหน้าที่เป็น Holding Company ในการกำกับดูแล และกำหนดทิศทางการพัฒนากิจการในภาพรวม พร้อมต้องหาทางผ่องถ่ายผู้บริหารและพนักงานลงไปดูแลบริษัทลูก-บริษัทร่วมทุนเหล่านั้น เพื่อกระจายพนักงานที่มีมากล้นในองค์กรออกไปให้มากที่สุด เพื่อลดความอุ้ยอ้ายขององค์กรลงไป
สิ่งเหล่านี้มันควรเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนแล้วครับ ไม่ใช่เพิ่งจะมาละเมอตื่นกันเอาตอนนี้ !!!
สภาพของสองรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของประเทศวันนี้ ที่อยู่ในสภาพหืดจับแทบไม่ต่างไปจาก ขสมก. ที่เผชิญกับการแข่งขันจากบรรดารถร่วมและบริการขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ เต็มพรืดเต็มถนน วันดีคืนดีผู้ถือหุ้นใหญ่หรือคลังไม่อยากจะแบกรับภาระก็หวังจับสองหน่วยงาน “มัดตราสัง” เป็นบริษัทเดียวกันให้สิ้นเรื่องสิ้นราว จะได้จัดองคาพยพ ปรับลดบุคลากร ลดการลงทุนซ้ำซ้อนตามหลักเกณฑ์ M&A สุดแต่จะบรรยายกันไป
แต่ถามต่อไปว่า หลังควบรวมกิจการกันไปแล้วจะให้ทำอะไรหรือ? จะให้ไปประมูลทำระบบ 5 จี ก็คงต้องย้อนถามกลับไปยังรัฐบาลและดีอีเอส ว่า สองหน่วยงานรัฐที่เพิ่งจะผ่านการควบรวม ไม่รู้จะตีรันฟันแทงกันยับขนาดไหน เสร็จสรรพจะให้ใครเป็นแกนนำ ใครจะเป็น Head ยังไม่รู้นั้นจะไปสู้รบปรบมือกับใครเขาหรือ หรือต่อให้ส่งเข้าร่วมเข้าประกวดไปพร้อมกัน ภาครัฐมีความจริงใจจะสนับสนุนเงินลงทุนให้แน่หรือหากจะต้องลงทุน 5 จีหรือโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานกันสัก 40,000-50,000 ล้านบาท รัฐพร้อมเกหมดหน้าตักอนุมัติงบลงทุนให้ไหม?
ขนาดจะของบมาลงทุนติดตั้งเน็ตชายขอบ หรือเน็ตหมู่บ้านงานหมูๆ ยังไม่ยอมให้ แถมไอ้ที่ดอดไปรับจ๊อบติดตั้ง “เน็ตชายขอบ” 2 โซนในโครงการ USO ของ กสทช.วงเงินลงทุนแค่พันกว่าล้านทีโอทียังทำซะป่นปี้ทำเอา กสทช.แทบไปไม่เป็น คนอื่นเขาติดตั้งส่งมอบงานกันครบไปตั้งแต่ปีก่อน แต่เน็ตชายขอบที่ทีโอทีรับจ๊อบไปทำกลับเหลวไม่เป็นท่า ป่านนี้ยังเคลียร์หน้าเสื่อไม่แล้วเสร็จ จนกสทช.ต้องสั่งเลิกสัญญาจ่อจะขึ้นบัญชีดำให้รู้แล้วรู้แร่ด ขืนประเคนคลื่น 5 จีให้ไปนอนกอด ก็มีหวังสองหน่วยงานไม่เอาไปเซ็งลี้ต่อให้ทุนสื่อสารรายใด ก็คงเอาไปดองจนเค็มได้ที่นั่นแหล่ะ
เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนจะจับสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ “มัดตราสัง”ควบรวมกิจการที่ไม่รู้ว่าควบรวมไปแล้วจะให้ไปว่ายน้ำแข่งกับใครที่ไหนนั้น คนร.และคณะรัฐมนตรีช่วยตอบคำถามผู้คนในสังคมทีว่า แล้วแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่ดำเนินกันไปตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมานั้น มีหน่วยงานไหนที่ประสบผลสำเร็จออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้บ้าง
แค่การบินไทยแห่งเดียวยังไปไม่เป็นเลยจนวันนี้ จริงไม่จริง !!!